โพส
หลักการ 12 ข้อสู่การเป็นมือกลองที่ดี
หลักการ 12 ข้อสู่การเป็นมือกลองที่ดีเรารวบรวมมา 12 ข้อที่เป็นคุณสมบัติที่สุดยอดมือกลองทุกคนมีอยู่1.มีจังหวะในใจ (นาฬิกาในตัวเอง) ที่เดินเที่ยงตรงและแม่นยำ2.ตีกลองออกมาเสียงดี3.มีทักษะและเทคนิคดีพอสำหรับการถ่ายทอดความคิด, อารมณ์ความรู้สึกและเสียงในใจออกมาผ่านการตีกลอง4.ควบคุมส่วนต่างๆของร่างกายให้เล่นตามที่ใจสั่งได้อย่างคล่องตัว เล่นออกมาเป็นธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องพยายาม5.สร้างอารมณ์เรื่องราวในการเล่น โดยการใช้ Dynamic และการหยุดให้ถูกที่ถูกเวลา6.มีความหลงไหลในดนตรีอย่างแท้จริงและลึกซึ้ง7.ไม่หยุดค้นหาพัฒนาจนกว่าเจอเสียงและสไตล์การเล่นเฉพาะของตัวเอง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่มีเพียงเราคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้8.การเป็นมือกลอง หน้าที่หลักๆคือเล่นเพื่อรักษาจังหวะชีพจรของวง มากกว่าเล่นเพื่อความสะใจของตัวเอง9.ศึกษาเพลงที่จะเล่นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้10.เปิดใจเปิดหูรับฟังเครื่องดนตรีชิ้นอื่นที่กำลังเล่นพร้อมๆกัน เพื่อหาช่องที่เหมาะสมในการเล่นสอดประสานกัน ตื่นตัวอยู่ตลอด หูตาต้องไว (อย่าแค่ตีกลองแบบเหม่อๆ)11.ปล่อยใจไปกับเพลง ไปกันเพื่อนร่วมวง และควบคุมจังหวะเพลงให้ดีที่สุด ตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะมือกลองคือคนคุมชีพจรทั้งหมดของเพลง12.กล้าที่จะทำในสิ่งที่คาดไม่ถึงเพื่อยกระดับเพลงขึ้นไปอีก เมื่อถึงเวลาที่สัญชาตญาณสั่งให้ทำจริงๆแล้วยังมีอีกมากมายหลายข้อ ที่คัดเลือกมาที่นี่คือข้อหลักๆที่มือกลองควรจะคำนึงอยู่ตลอด เพื่อช่วยยกระดับการเล่นของตัวเอง, ของวงและสร้างเสน่ห์ให้การเล่นของเราเองมีเอกลักษณ์น่าฟังและน่าจดจำEnjoy The Groove ♪ 🥁
อ่านต่อ9 Jul 66
Groove
หลายคนก็อาจจะนิยามความหมายของคำว่า Groove ที่แตกต่างกันออกไป อาจจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลา หรือขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการตีกลองและเล่นดนตรีในชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เลยทำให้เรานิยามความหมายของคำว่า Groove แตกต่างกันไป… สำหรับตัวผมเองในช่วงแรกๆของการเริ่มตีกลองใหม่ๆก็จะเข้าใจและให้ความหมายของคำว่า Groove แบบนึง กล่าวคือ Groove หมายถึงความชัดเจนและความแข็งแรงของจังหวะที่เรากำลังตีและเล่นอยู่ มีเสียงกระเดื่องอยู่ที่บีท 1,3 มีเสียงสแนร์อยู่ที่บีท 2,4 และมีเสียงไฮแฮทที่เป็นลักษณะตัวโน้ต 8 โน้ตที่เล่นควบคู่กันไป โดยตัวเรามีหน้าที่ควบคุมและบาลานซ์เสียงของกระเดื่อง,สแนร์,ไฮแฮทให้มีเสียงที่ออกมากลมกลืนและเท่าๆกัน ไม่มีเสียงหนึ่งเสียงใดที่ดังไปมากกว่ากัน หรือในบางที ผมก็จะนิยามความหมายและเปรียบเปรยคำว่า Groove เป็นเหมือนกับการสั่นสะเทือนหรือการเต้นของชีพจรที่อยู่ในของตัวเรา ถ้าเราสัมผัสถึงการสั่นสะเทือนของชีพจรเราได้ เราก็จะรู้สึกถึงลักษณะแห่งการเต้นที่เป็นจังหวะของมัน และลักษณะที่ว่านั้น มักจะเต้นหรือสั่นสะเทือนเป็น Querter Note เสมอ นั่นคือช่วงแรกๆของการนิยามความหมายของคำว่า Groove ที่ผมมั่นใจ https ในช่วงเวลาต่อมา ตัวผมเองก็ได้เริ่มฝึกฝนการตีกลองในแบบที่เข้มข้นมากขึ้น และนำเอาความเข้าใจที่มีเกี่ยวกับคำว่า Groove จากในช่วงแรกๆของการตีกลองนั้นมาเพิ่มความเข้มข้นในการฝึกฝนมากขึ้นเช่นกัน โดยมี metronome และ backing track เป็นอาจารย์ผู้สอนจนมีความมั่นใจและเชื่อมั่นใน Groove กระเดื่อง,สแนร์และไฮแฮทของตัวเองมากถึงมากที่สุด และบอกกับตัวเองด้วยความมั่นใจว่านี่คือความหมายของคำว่าGroove อย่างแท้จริง แต่ในช่วงเวลานั้นประสบการณ์ในการเล่นที่เป็น Band ของผมยังไม่ค่อยมีเท่าไร แต่ก็ได้ฟัง ได้รู้ ได้ดู และได้เห็นจากสื่อต่างๆเพิ่มขึ้นมากในระดับนึง และจากความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้นนี้เอง ก็เลยเกิดมีข้อสงสัยแล้วก็แอบถามตอบกับตัวเองในใจขึ้นมาว่า ถ้าเราจะนิยามความหมายคำว่า Groove ที่มันจะเกิดมีขึ้นได้แค่เฉพาะเสียงกระเดื่อง,สแนร์,ไฮแฮทแค่นั้นแล้วก็ยึดครองมาเป็นกรรมสิทธ์ของเราแต่เพียงผู้เดียวก็คงไม่ผิดอะไร !! แต่เอ๊ะ !! แล้วถ้าเครื่องมืออื่นๆที่เค้าไม่ได้มีเสียงกระเดื่อง,สแนร์และไฮแฮทที่เหมือนเราหล่ะเค้าจะทำอย่างไร ? และถ้าเค้าต้องการที่จะเล่น จะสร้างหรือนิยามความหมายของคำว่า Groove ในแบบฉบับของเค้าบ้างเค้าจะทำได้อย่างไง ? ฟังดูเหมือนเป็นคำถามที่ธรรมดาคำถามนึงของมือกลองวัยรุ่นไฟแรงคนหนึ่ง แต่จริงๆแล้วมันเป็นการถามตอบที่แอบเคลือบแฝงความมีอีโก้อยู่ในนั้นมากพอสมควร กระหยิ่มยิ้มย่องว่าฉันเก่งฉันเจ๋ง เครื่องมือที่ฉันเล่นมีความยากในการฝึกและในการเล่นมากกว่าเครื่องอื่นๆ ทุกคนต้องฟังฉัน เพราะฉันเป็นเจ้าของและเป็นผู้มอบคำว่าGroove ให้กับทุกๆคนในทุกๆเครื่องมือ?? เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไปความรู้สึกนึกคิดและมุมมองต่างๆในการตีกลองและการใช้ชีวิตของผมก็เริ่มค่อยๆเปลี่ยนไปบ้าง การฝึกฝนและการพัฒนาตนเองก็ยังคงมีอยู่แต่ก็ไม่เข้มข้นเหมือนอย่างกับในช่วงแรกๆ สิ่งที่มาช่วยลดความเป็นมือกลองวัยรุ่นไฟแรงของผมลงได้บ้างก็คือการที่ผมได้เริ่มเล่นกับ Band ที่เป็นวง ไม่ใช่เล่นแต่กับ Metronome หรือแต่กับ Backing Track เหมือนอย่างที่เคย ไม่ได้ตีกลองที่อยู่แต่แค่ในโลกของตัวเองเพียงคนเดียวอีกต่อไป เพราะผมได้เริ่มเล่นดนตรีกับคนจริงๆตัวเป็นๆ และมันคือการเล่นดนตรีที่เป็นดนตรีจริงๆ แอบตื่นเต้นอยู่บ้างนิดหน่อย แต่ก็ยังคงมีความคิดและความมั่นใจใน Groove แบบเดิมๆ เพิ่มเติมคือเทคนิคใหม่ๆเพียงเล็กน้อยของตัวเองที่ได้จากการฝึกซ้อมอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ในใจคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกคนทุกเครื่องมือต้องฟังและรอการมอบกระเดื่อง,สแนร์และไฮแฮทจากผมเท่านั้น และในขณะที่ผมกำลังจะนับเพื่อขึ้นเพลง แต่แล้วอยู่ๆทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิด ไม่ได้เป็นอย่างที่ผมซ้อมมา และไม่ได้เป็นอย่างที่ผมมั่นใจเหมือนก่อนหน้านี้ แน่นอนครับว่าช่วงเวลาที่ผมกำลังจะพูดถึง มันก็คือการที่ผมได้เห็นและได้ยินมือคีย์บอร์ดในวงขึ้นเพลงเอง และมือกีตาร์สับคอร์ดโซโลตามมา เมโลดี้ที่ลื่นไหลจากแซ็กโซโฟนลอยมาสมทบตบท้ายด้วยเสียง slap bass ที่สุดจะเร้าใจ โดยที่ผมยังไม่ได้คำรามหรือส่งเสียง Groove ที่ผมคิดว่าผมเป็นเจ้าของและผมเท่านั้นที่จะเป็นผู้มอบมันให้กับทุกๆคนเลย แต่ทำไมทุกคนทุกเครื่องมือถึงเล่นกันได้พร้อมเพียงและแข็งแรงอย่างน่าอัศจรรย์ มันเป็นแปดบาร์ที่ทำให้ผมอึ้ง ลุ้น ตื่นเต้นว่ามันจะไปต่ออย่างไร และมันจะจบลงที่ตรงไหน แน่นอนครับ สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงและผ่านไปได้ด้วยดี ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผมในตอนนั้นเมื่อเพลงที่เล่นได้จบลง มันชั่งพร่างพรายงดงามเกินกว่าจะหาคำพูดใดๆมาบรรยาย และจากการที่ได้เห็นได้ยิน ได้ฟัง และได้ร่วมเล่นเป็นส่วนหนึ่งใน Band และเป็นส่วนหนึ่งในบทเพลงเพลงนั้นแล้ว การนิยามความหมายและความคิดของผมที่ว่า Groove นั้นหมายถึงจะต้องมีแต่เฉพาะเสียงกระเดื่อง,สแนร์และไฮแฮทเท่านั้นไม่ใช่อีกต่อไป มุมมองและความคิดเก่าๆแบบนั้นก็หายไปโดยสิ้นเชิง มันเป็นคำตอบของทุกๆคำถามที่อยู่ในใจ และที่สำคัญไปกว่านั้น มันยังช่วยละลายพฤติกรรมและละลายการมีอยู่ของอีโก้ในตัวผมที่มีอยู่มากลงเสียได้ ทุกคนในทุกๆเครื่องมือสามารถที่จะเล่น จะสร้างและนิยามความหมายของคำว่า Groove ในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างอิสระโดยไม่มีข้อสงสัยเลย และตัวผมเองก็เริ่มที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิด เริ่มมองหาและนิยามความหมายของคำว่า Groove ในมุมมองใหม่ๆที่แตกต่างจากเดิมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน Sense Of Rhythm จากปัจจุบันนี้ แล้วลองมองย้อนกลับไปในทุกๆช่วงเวลาของอดีตที่ผ่านมา ถ้าถามผมในตอนนี้ว่าผมจะอธิบายหรือนิยามความหมายของคำว่า Groove อย่างไรนั้นต้องยอมรับเลยครับว่าถึงตอนนี้ ผมเองก็ไม่ค่อยมีความมั่นใจที่จะอธิบาย หรือนิยามความหมายที่แน่ชัดของมันจริงๆได้เหมือนกับในช่วงแรกๆที่ผมเริ่มตีกลองใหม่ๆได้เลย แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ การฝึกฝนและการเรียนรู้ในศาสตร์แห่งดนตรีของผมจะยังไม่สิ้นสุดลงแน่นอนครับ และจากการที่ผมได้ตีกลองและเล่นดนตรีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานประมาณนึง บวกกับประสบการณ์ที่หลากหลายในทุกๆช่วงของชีวิต ได้ฟังได้รู้ ได้ดู ได้เห็นมาโดยตลอด มาจนถึงในตอนนี้ ผมก็ได้เจอกับสิ่งใหม่ที่อยากจะเล่า อยากอธิบาย และแชร์เป็นไกด์ไอเดียให้ทุกท่านที่ได้อ่านลองพิจารณาตามกันดู แต่มันอาจจะไม่ถูกต้องไปซะทั้งหมดนะครับ ผมคิดว่าความหมายของคำว่า Groove สำหรับผมในช่วงนี้มันหมายถึง " ความรู้สึก " Sense of rhythm ที่มีองค์ประกอบหลักๆอยู่สี่อย่าง คือ - Rudiments ( กลุ่มตัวโน้ตและ stroke ของมือซ้ายมือขวา ) - Time ( อัตราจังหวะ ) - Emotion ( อารมณ์ หรือความรู้สึกที่เรามีต่อจังหวะนั้นๆที่เรากำลังเล่นอยู่นั่นแหละครับ ตามภาพประกอบจะเห็นว่าผมมีRudiments ซึ่งมันก็คือ ( กลุ่มของตัวโน้ตและ Stroke ของมือซ้ายมือขวาที่ตีในรูปแบบต่างๆ )เป็นตัวตั้งต้นตามมาด้วย Time ( คืออัตราจังหวะ )ซึ่งเราจะต้องรักษาtime feel ของ Ruiments ที่เราเพิ่งเล่นไปให้ตรงจังหวะต่อด้วย Emotion ( อารมณ์ )และ Feel ( รู้สึก )คือเราจะต้องค่อยๆใส่อารมณ์มันเข้าไปใน Rudiments และTime ที่เรากำลังเล่นอยู่ รู้สึกให้ได้ว่าเรากำลังสร้างและเล่นอยู่กับมัน เติมเต็มให้มันจนครบองค์ จนมันกลายเป็นมวลของพลังอารมณ์แล้วส่งออกไปเป็น Feelling ( คือความรู้สึก )ในท้ายที่สุด และเมื่อเราทำมันเป็นประจำซ้ำๆบ่อยๆแล้ว หูของเราจะจำเสียงและสำเนียงได้ มือและขาทั้งสองข้างจะจดจำน้ำหนักที่ลงบนกลองได้ดีและไม่แน่ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมานอกจากเราจะได้Groove ที่แข็งแรงและเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกแล้ว เรายังอาจจะได้ Groove ที่เป็น Original Groove ของเราเองก็เป็นได้ และนี่คือทั้งหมดที่ผมพอจะอธิบายได้ในช่วงเวลานี้ครับ มาจนถึงทุกวันนี้ผมมีความเชื่อลึกๆครับว่า อาจจะมีอีกหลายๆสิ่งบนโลกใบนี้ ที่เรายิ่งรู้และเข้าใจมันมากแค่ไหนเพียงใด บางทีบางครั้ง เราก็ยิ่งไม่สามารถที่จะอธิบายหรือสื่อสารมันออกมาได้ด้วยคำพูดเลยจริงๆหรือไม่บางทีมันก็อาจจะไม่ต้องการคำนิยามใดๆมาตีกรอบมันตั้งแต่แรกก็เป็นได้ อาจจะเป็นแต่ที่ตัวเราว่าจะเลือกใช้ภาษาหรือเครื่องมือใดๆในการสื่อสารสิ่งที่เรียกว่า Groove นั้นออกไปอย่างไร และแน่นอนที่สุดสำหรับผมในฐานะมือกลอง สิ่งนั้นก็คือ “ เสียงกลอง “ที่ผมกำลังเล่นหรือตีมันออกไปให้ผู้คนทั้งหลายได้รับฟังกันครับ. ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนจบนะครับ และหวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์ต่อทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ มีความสุขกับตีกลองและเล่นดนตรีทุกท่านนะคร้าบ ขอบคุณและสวัสดี Duck Suttipong Pankong
อ่านต่อ6 Oct 65